|
|
| |
ความเป็นอนิจจังของสัีงคม
| ปรีดี พนมยงค์
| ความเป็นอนิจจังของสังคม
"สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงที่ ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง สสารวัตถุที่ประกอบขึ้นโดยพลังของธรรมชาติ หรือโดยพลังของมนุษย์ ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าอาจเห็นว่า ไม่เคลื่อนไหวนั้นความจริงมีการเคลื่อนไหว ภายในตัวของสิ่งนั้นๆคือ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเปลี่ยนแปลง จากความเป็นสิ่งใหม่ไปสู่ความเป็นสิ่งเก่า
พืชพันธ์ รุกขชาติ และสัตว์ชาติทั้งปวง รวมทั้งมนุษยชาติที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้เกิดมาแล้วก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง โดยเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดที่ไม่ อาจเติบโตได้อีกต่อไปแล้ว ก็ดำเนินสู่ความเสื่อม และสลายในที่สุด
ชีวิตย่อมมี ด้านบวก กับด้านลบ มีส่วนที่เกิดใหม่ ซึ่งเจริญงอกงาม กับส่วนเก่าที่เสื่อม ซึ่งกำลังดำเนินไปสู่ความสลายดับ ด้านบวกหรือด้านลบ หรือ สิ่งใหม่กับสิ่งเก่า ย่อมโต้อยู่ภายในของชีวิตนั้นเอง ซึ่งทำให้ชีวิตมีการเคลื่อนไหว
มนุษย์สังคม หรือเรียกสั้นๆว่า สังคม ก็มีอาจหลีกเลี่ยงให้พ้น ไปจากกฏแห่งอนิจจัง ดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ สังคมมีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไปอย่างไม่หยุดยั้ง สังคมย่อมมีด้านบวกกับด้านลบ ภายในสังคมนั้นเอง คือสภาวะใหม่ ที่เจริญงอกงาม และสภาวะเก่าที่เสื่อม ซึ่งดำเนินไปสู่ความสลายดับ
สังคมมนุษย์มี พลังงานใหม่ซึ่งเป็น ด้านบวกและมีพลังเก่าด้านลบที่ปะทะกันอยู่ อันทำให้สังคมเคลื่อนไหวไป ในทำนองเดียวกันกับสิ่งที่มีชีวิต ทั้งหลายตามกฏธรรมชาติ พลังเก่าก็เสื่อมสลายไปด้วย พลังใหม่ที่เจริญเติบโต ระบบสังคมของพลังใหม่ก็เจริญเติบโตไปด้วย สภาวะเก่าหลีกเลี่ยงจาก ความเสื่อมสลายไปไม่พ้น ส่วนสภาวะใหม่ก็ต้องดำเนินไปสู่ความเจริญ ซึ่งพลังเก่าไม่อาจต้านทานไว้ได้ ดังนั้นสภาวะใหม่ย่อมได้รับชัยชนะต่อสภาวะเก่า
ในวิถีแห่งการปะทะระหว่าง ด้านบวกกับด้านลบตามกฏธรรมชาติ สภาวะใหม่ที่ได้ชัยชนะต่อสภาวะเก่านั้น มิอาจรักษาความเป็นสภาวะใหม่นั้น ก็ต้องดำเนินไปตามกฏแห่งอนิจจัง คือเมื่อเติบโตจนถึงขีด ที่ไม่อาจเจริญต่อไปได้อีกแล้ว ก็ดำเนินไปสู่ความเสื่อม โดยมีสภาวะที่ใหม่ยิ่งกว่า ขึ้นมาปะทะ และได้ชัยชนะรับช่วงเป็นทอดๆต่อไป"
|
|
|
|